เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
1. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

“มหาบุรุษทรงยินดีในสัจจะ1 ในธรรม2
ในการฝึก3 ในความสำรวม4 ในความสะอาด5
ในศีลที่เป็นอาลัย ในอุโบสถกรรม
ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในกรรมอันไม่สาหัส
ทรงสมาทานมั่น ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ
เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงไปสู่โลกทิพย์
เสวยสุขและสมบัติที่น่าเพลิดเพลินยินดี
จุติจากโลกทิพย์แล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงเหยียบปฐพีด้วยพระบาททั้งสองอันราบเสมอกัน
พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะมาประชุมกันทำนายว่า
‘พระกุมารนี้ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
เป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตก็ไม่มีใครข่มได้
พระลักษณะนั้นเป็นนิมิตส่องความนั้น
พระกุมารนี้ เมื่ออยู่ครองเรือน ไม่มีใครข่มได้
มีแต่ครอบงำพวกปรปักษ์ เหล่าข้าศึกศัตรูข่มมิได้
ใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ หาข่มได้ไม่
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
ถ้าพระกุมารผู้มีพระลักษณะเช่นนั้น
ทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง เป็นอัครบุคคล
ไม่มีใคร ๆ ข่มได้แน่นอน เป็นผู้สูงสุดกว่านรชน’
นี้เป็นธรรมดาของพระกุมารนั้น”

เชิงอรรถ :
1 สัจจะ ในที่นี้หมายถึงคำสัตย์ (ที.ปา.อ. 203/112)
2 ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ที.ปา.อ. 203/112)
3 การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกอินทรีย์ (ที.ปา.อ. 203/112)
4 ความสำรวม ในที่นี้หมายถึงความสำรวมในศีล (ที.ปา.อ. 203/112)
5 ความสะอาด ในที่นี้หมายถึงสุจริต 3 ประการ คือ (1) กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย) (2) วจีสุจริต
(ประพฤติชอบด้วยวาจา) (3) มโนสุจริต (ประพฤติชอบด้วยใจ) (ที.ปา.อ. 203/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :165 }